แชร์

4 วิธีรับมือเมื่อลูกร้องตะเบ็งเสียง ไม่ยอมหยุด

อัพเดทล่าสุด: 18 เม.ย. 2025
17 ผู้เข้าชม

อาการร้องไห้ของทารกแรกเกิด 3 เดือน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทารกกำลังปรับตัวกับโลกภายนอก เสียงร้องเป็นการสื่อสารเพียงอย่างเดียวที่พวกเขาทำได้ บางครั้งทารกอาจร้องเสียงดังโดยที่คุณหาสาเหตุไม่เจอ อาจเป็นเพราะ:

  • กำลังหิว
  • ต้องการความอบอุ่น
  • ผ้าอ้อมเปียกหรือสกปรก
  • เหนื่อยแต่นอนไม่หลับ
  • ต้องการให้อุ้ม

อาการร้องไห้ของทารกวัย 3-6 เดือน 

ทารกเริ่มรับรู้สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มเรียนรู้ว่าเสียงร้องของตนเองสามารถดึงดูดความสนใจได้ และอาจเริ่มร้องไห้ด้วยเหตุผลที่หลากหลายขึ้น  อาจเป็นเพราะ:

  • ความเบื่อหน่าย
  • ความไม่สบายตัว
  • ฟันกำลังขึ้น
  • ต้องการความสนใจ

อาการร้องไห้ของทารกวัย 6-12 เดือน 

ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีพัฒนาการด้านอารมณ์และการเรียนรู้สูงมาก เริ่มรู้ว่าการร้องไห้สามารถ ใช้ควบคุมสถานการณ์ ได้ 

  • ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แค่ร้องเฉยๆ 
  • ต้องการควบคุมสถานการณ์ หรือ เรียกให้สนใจเขา
  • วิตกกังวลเมื่อพ่อแม่จากไป
  • กลัวคนแปลกหน้า

อาการร้องไห้ของทารกวัย วัย 1 ขวบขึ้นไป

เด็กวัยนี้เริ่มพัฒนาความเป็น ตัวของตัวเอง ต้องการเลือกเอง และเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยที่เรียกว่า วัยทองของเด็ก (Terrible Two) การร้องไห้ในวัยนี้จึงอาจเกิดจาก:

  • ต้องการแสดงความเป็นอิสระ
  • ไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ชัดเจน
  • หงุดหงิดเพราะร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้ขยับตัวไม่คล่องดั่งใจ

วิธีรับมือเมื่อลูกร้องตะเบ็งเสียง

เมื่อต้องเผชิญกับเสียงร้องที่ไม่หยุดของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่แทบจะเดินไปทุกที่พร้อมกับเสียงกรีดร้องติดหูไปด้วย หากเกิดแบบนี้ขึ้นมาจะต้องรับมือยังไงดีละ? 

ขั้นแรก คือ เช็คลูกให้ชัวร์ก่อน 

เด็กก็เหมือนกับผู้ใหญ่เรานี่แหละค่ะ เวลาหิว ร้อน หรือรู้สึกไม่สบายตัว มักจะหงุดหงิดเป็นธรรมดา มาลองไล่เช็กทีละอย่างกันก่อนนะคะ เพราะบ่อยครั้งสิ่งที่ทำให้เจ้าตัวเล็กร้อง อาจเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เลยค่ะ

  • หิวหรือเปล่า? ถ้าเวลามื้อล่าสุดผ่านไปสักพักแล้ว ลองให้นมดูค่ะ บางทีแค่ท้องร้องเบาๆ เขาก็ส่งเสียงดังแล้วนะ
  • ผ้าอ้อมเปียกไหม? ความเปียกชื้นเล็กๆ ก็ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้มากกว่าที่เราคิด
  • ร้อนหรือหนาวไปหรือเปล่า? ลองเช็กอุณหภูมิห้อง หรือจับตัวลูกดูว่าเหงื่อออกไหม หรือมือเท้าเย็นเกินไป
  • ง่วงแต่นอนไม่หลับ? ทารกบางคนพอง่วงแล้วจะร้อง เพราะเขายังไม่สามารถปรับตัวเองให้หลับได้ เพื่อให้ลูกน้อยหลับสบาย แนะนำ ถุงนอนเด็กทารก ให้ลูกน้อยหลับสนิทตลอดคืน

ถ้าเช็กแล้วว่าให้นมแล้ว ผ้าอ้อมก็แห้ง อุณหภูมิก็โอเค แต่ลูกยังร้องอยู่ อาจถึงเวลาลองใช้วิธีอื่นๆตามนี้ ช่วยปลอบเขาดูนะคะ 

  • การอุ้มแนบอกให้ลูกได้ยินเสียงหัวใจคุณ ให้เขารู้สึกถึงไออุ่นและความปลอดภัย บางครั้งการเดินไปมาเบาๆ พร้อมกับเต้นตามจังหวะการเต้นของหัวใจแม่ (ประมาณ 60-80 ครั้งต่อนาที) เป็นจังหวะที่คุ้นเคยสำหรับทารกจากช่วงในครรภ์ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับตอนที่อยู่ในครรภ์มารดา ก็ช่วยได้มากนะคะ โดยการห่อตัวลูกด้วยผ้าอ่อนนุ่มให้รู้สึกมั่นคง (swaddling) แต่ไม่แน่นเกินไป จากนั้นอุ้มในท่าที่ท้องน้อยของเขาแนบกับแขนของคุณ ความอบอุ่นและแรงกดเบาๆ ที่ท้องอาจช่วยบรรเทาอาการไม่สบายท้องได้
  • เสียงขาวหรือ White noise อย่างพวกเสียงพัดลม เครื่องดูดฝุ่น คล้ายกับเสียงเลือดไหลเวียนที่ทารกได้ยินตอนอยู่ในครรภ์! คุณอาจจะแปลกใจที่พบว่าเสียงดังเบาๆ กลับปลอบโยนลูกได้ดีกว่าความเงียบสงัด (ซึ่งบางครั้งเสียง noise เหล่านี้ก็ทำให้ผู้ใหญ่หลับด้วยเช่นกันค่ะ)

อีกขั้นที่แม่ๆอาจจะไม่เคยนึก คือ การสร้างสิ่งเร้าใหม่! 

แปลกแต่จริงค่ะอย่างที่เวลาเด็กร้องไห้ พ่อแม่ชิงร้องดังกว่า หรือ ร้องเพลงเสียงดังแทน เพราะ การสร้างสิ่งเร้าที่จัดใหญ่กว่า กลับทำให้เด็กตะลึง! ต้องใช้เวลาประมวลผล จนลืมสาเหตุที่ร้องไห้แต่แรกไปเลย หรือ พาลูกออกไปนอกบ้าน ให้เห็นต้นไม้ แสงแดด ได้ยินเสียงนกร้อง ทำให้พวกเขาหยุดร้องเพราะกำลังสนใจสิ่งแปลกใหม่รอบตัวแทนก็ได้นะคะ  

รับมือกับลูก1ขวบที่ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

เด็กวัยนี้อาจร้องกรี๊ดเพราะต้องการสื่อสารหรือแสดงความไม่พอใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองควรจะเริ่มสอนให้ลูกรู้จัก จัดการอารมณ์ของตัวเอง ค่อยๆ ฝึกให้เข้าใจว่าการเรียกร้องด้วยการร้องไห้เสียงดัง ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม 

  • ใช้คำพูดง่ายๆ: สอนให้เด็กบอกความต้องการด้วยคำพูดหรือท่าทางแทนการร้อง
  • ให้ทางเลือก: "หนูจะเล่นตุ๊กตา หรือ อ่านหนังสือดี?" ช่วยให้เด็กรู้สึกมีอำนาจในการเลือก
  • ตั้งขอบเขตชัดเจน: หากร้องเพราะเอาแต่ใจ พูดด้วยเสียงนุ่มแต่หนักแน่นว่า "แม่เข้าใจว่าหนูอยากได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้นะ"

การรับมือของคุณพ่อคุณแม่ คือ การดูแลตัวเอง

ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยล้าเมื่อต้องเผชิญกับเสียงร้องของลูกทั้งวันโดยเฉพาะเมื่อลูก1ขวบร้องไห้ไม่ยอมนอน อาจทำให้คุณรู้สึกหมดแรง เครียด หรือหงุดหงิดได้ แต่สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลตัวเองด้วย เพราะเมื่อตัวคุณสงบและมีพลังมากพอ ก็จะสามารถดูแลลูกได้ดี มีสติในการจัดการมากขึ้น

และที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเหนื่อยหรือหงุดหงิดแค่ไหน อย่าไปหงุดหงิดลงที่ลูกเด็ดขาด เพราะเด็กไม่รู้ว่าจะจัดการอารมณ์อย่างไร เขาเลยมีเท่าไหร่ ปล่อยมาทั้งหมด จำไว้ว่าการร้องไห้ของลูกเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการและคุณกำลังทำดีที่สุดแล้ว เมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาจะค่อยๆ เรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ตัวเอง และทุกอย่างจะดีขึ้นตามเวลา เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ


บทความที่เกี่ยวข้อง
ทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน
พ่อแม่มือใหม่ต้องเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้กันแน่เลยค่ะ ลูกน้อยดู ง่วงแต่กลับไม่ยอมนอน จะร้องเพลงกล่อมก็แล้ว…ตีก้นเบาๆก็แล้ว ก็ยังตาใสแป๋ว ฝืนสู้ไม่ยอมนอนทุกครั้ง งั้นเรามาแชร์ประสบการณ์กันดีกว่าค่ะ ว่าจะรับมือกับปัญหากับ ทารกไม่ยอมนอน และทำไมการนอนหลับถึงมีความสำคัญมากสำหรับพัฒนาการของเด็ก
18 เม.ย. 2025
ทารกท้องอืดวิธีแก้
พ่อแม่มือใหม่ต้องเคยเจอปัญหาคลาสิกแบบนี้แน่นอน คือ ทารกท้องอืด ด้วยความที่เขายังแบเบาะ พูดไม่ได้ ซึ่งนอกจากทำให้ลูกหงุดหงิดแล้ว ยังอาจทำให้กินนมได้น้อย นอนไม่หลับ และดูอึดอัดไปหมด แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเด็กทารกท้องอืดจริงๆ? มันเกิดจากอะไรได้บ้าง? เผื่อจะปรับให้ลูกสบายตัวมากขึ้นมาหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ!
18 เม.ย. 2025
โคลิค_คือ
ทารกร้องไห้ตอนกลางคืนเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อใดที่ลูกร้องไม่หยุด หลายชั่วโมง หลายคืนติดต่อกัน แถมไม่ว่าจะอุ้ม กล่อม หรือให้นมก็ไม่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเริ่มสงสัย... "เอ๊ะ ลูกเราเป็นโคลิคหรือเปล่านะ?" เข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่เลยค่ะ พอได้ยินเสียงร้องไห้ของลูกที่ดังไม่หยุด คืนแล้วคืนเล่าที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกสงบ แต่ดูเหมือนไม่มีอะไรช่วยได้ ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่เรียกว่า "โคลิค" ซึ่งพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด
18 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy